ทรงจำ

เมื่อหลายปีก่อนผมเคยเขียนไดอารีออนไลน์อย่างต่อเนื่อง บางช่วงเขียนแทบทุกวัน บางช่วงก็เว้นวรรคสัปดาห์บ้าง เดือนบ้าง แต่ก็ไม่ได้ห่างหายไปนานจนลืมเลือน

บ้างเป็นเหตุการณ์เรื่อยเปื่อย บ้างเป็นเสี้ยวอารมณ์ หากจะถามว่าบันทึกไว้ทำไม ก็คงจะอธิบายได้ว่ามันเป็นบันทึกเพื่อกันลืม แต่น่าแปลกอยู่อย่าง พอเวลาผ่านไป นานนานทีผมคุ้ยเข้าไปในวันวานเหล่านั้น สิ่งที่เขียนไว้กันลืม — ผมลืมสิ้น

จริงๆ ก็ไม่ได้หมดจดขนาดนั้น… แต่คล้ายกับอ่านข้อความของคนแปลกหน้า

 

มันน่าแปลกตรงที่ว่า หลายต่อหลายสิ่งที่ผมไม่เคยคิดจะบันทึก ผมกลับจดจำมันได้แม่นยำ ทั้งXXX และXXX และยังXXXนั่นอีก

ที่ไม่บันทึกก็เพราะมันเป็นเรื่องไม่น่าจำบ้าง เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะมีหลักฐานหลงเหลือบ้าง เป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีค่าให้รำลึกบ้าง หรือกระทั่งสามัญธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ

แต่ผมก็จำมันได้

 

. . .

 

บันทึกหน้านี้เขียนขึ้นมา เพราะระลึกได้ว่า ในช่วงวัยหนึ่งเราเองเป็นคนหวงอดีตขนาดไหน
ช่างเก็บช่างสะสมคืนและวันเพียงไร
แม้สุดท้ายข้อสรุปของวันนี้จะบอกว่า บันทึกไม่สามารถจารึกคืนวันที่ไม่เปลี่ยนแปร

พอเรื่องราวนั้นหยุดนิ่ง
มันก็ไม่ใช่ ‘เรื่อง’ ของ ‘เรา’ อีกต่อไป

 

ชวนอ่าน ฝนเอยทำไมจึงตก

Processed with VSCOcam with m5 preset

ฝนเอยทำไมจึงตก
วิรชา ดาวฉาย
เยติ, มกรา 2557

เรื่องสั้นทั้ง 10 เรื่องนี้มีความโดดเด่นในภาคริทึ่มจังหวะนั้นช่ำชองเหมือนอัลบั้มแจ๊ซสนุกๆ ที่เราสามารถฟังรวดเดียวจบทั้งอัลบั้ม แต่มักจะแยกไม่ออกหรือสับสนว่าเพลงไหนคือเพลงไหน แต่นั่นไม่สำคัญหรอก

เรื่องสั้นทั้ง 10 เรื่องนี้ก็เช่นกัน มันมีความทะเยอทะยาน ความขี้เล่นช่างซุกซน และโอ่อ่าเกือบจะโอ้อวดในภูมิปัญญาโบร่ำโบราณ ในศาสนาพุทธเถรวาทแบบไทยๆ ที่เวียนวนด้วยพิธีรีตรองและคำว่าศรัทธา ในแก่นความคิดของชาติที่คลุมเครือ ในชีวิตดิ้นรนสู่ความสำเร็จของชนชั้นแรงงานในเมืองหลวง

แต่ในความโดดเด่นของจังหวะจะโคนนั้น ก็มีสูตรสำเร็จที่เรื่องสั้นทั้ง 10 นี้ชอบใช้ซ้ำ เป็นท่าเผด็จศึกที่คนช่างจดช่างจำอาจจะเบื่อหน่ายหลังจากดูไปสองสามตอน

ที่สำคัญ เขาใช้ท่าไม้ตายนี้ ไม่ว่าศัตรูจะจิ๊บจ๊อยน้ำเน่ารักใคร่หรือยิ่งใหญ่ซับซ้อนขนาดอภิปรัชญา

รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ให้ความบันเทิง และเข้าถึงง่าย ตรงจุดนี้นับว่าสอดรับกับการออกแบบปก และบุคลิกของหนังสือ

มันทำให้ข้าพเจ้าหลุดหัวเราะในเรื่อง ‘คอยหลวงพ่อ’
และรันทดไปกับชะตากรรมของชีวิต ใน ‘มหาศรัทธา’

เรื่องที่ถูกจริตผมที่สุดคือ ‘ทุ่งสาลีและอีกา’ ผมคิดว่าท่าไม้ตายที่เขาใช้ กำราบศัตรูตัวนี้ได้อยู่หมัด แต่ในเรื่องอื่น อย่างเช่น ‘ประเถดไทย’ หรือ ‘พระเจ้าช่วย’ ผมว่าวายร้ายยังไม่ตาย สัปดาห์หน้าเดี๋ยวมันก็ฟื้นคืนชีพ

แต่กระทั่งในเรื่องที่ไม่ถูกจริตนัก จังหวะของหนังสือเล่มนี้ก็ให้ความเพลิดเพลินได้อย่างดีทีเดียวครับ

Money and Life

DVD_cover_image-1

 

 

Money and Life
(documentary)

หนังบอกว่า ทุกวันนี้เราเหมือนปลาที่แหวกว่ายในมหาสมุทรเงินตรา แทบไม่รู้ตัวว่าเราถูกพัดพาในกระแสของมัน

หนังบอกอีกว่า เราลืมไปแล้ว ว่าเราเองนี่แหละ ที่คิดค้นเงินขึ้นมา

และศัพท์ทุกคำที่เกี่ยวพันกับคำว่าเงินตรา (currency) ล้วนมีนัยของการพัดพาและเคลื่อนไหว
มันบ่งชี้ว่า เงินถูกประดิษฐ์ให้เคลื่อน มันมิใช่ของสำหรับสะสม

แต่ถึงเราจะรู้ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น มันจะช่วยอะไรกับภาระหนี้สินบัตรเครดิตที่เราต้องชำระทุกเดือน ทุกเดือนล่ะ

หนังบอกว่า ระบบเศรษฐกิจของโลกเราในปัจจุบันนี้นั้น ขับเคลื่อนด้วยหนี้สิน และในโลกของการเงิน มันมีมูลค่าไหลเวียนมหาศาลกว่ามูลค่่าทางเศรษฐกิจของโลกจริงๆ ที่เราเหยียบยืนอยู่

มันก็ตลกดี อาทิตย์ก่อนผมดู The Wolf of Wall Street ได้ครึ่งเรื่อง แล้วก็เบื่อหน่ายจนทิ้งไว้แค่นั้น

ผมว่าชีวิตสุดโต่งแบบนั้นมันน่าเบื่อฉิบหายเลยว่ะ

เปล่า, ที่พูดมาทั้งหมดนี่ไม่ได้บอกว่าเงินไม่จำเป็น หรือไม่ได้บอกว่าตัวเองไม่ได้ชอบเงิน

ผมว่ากลิ่นของเงินก็หอมดี ผมมีจินตนาการน่ะ ผมนึกถึงชอกโกแลตแพงๆ หรือกาแฟชั้นดี

นั่นล่ะ บางกลิ่นของเงิน(สำหรับผม)

Money and life เป็นสารคดีที่เริ่มจากความสงสัยในกระแสเงินตราที่โอบล้อมเรา ตั้งข้อสังเกต ไต่ถาม แสดงความอึดอัดคับข้องที่เผชิญอยู่ ไม่ได้ก่นด่าหรือประนามทุนนิยมอย่างหนังแนวๆ นี้

และเสียใจด้วย หนังยังไม่สามารถมอบคำตอบอะไรให้เรา

ทำงานกันเถอะสหาย ภาระผ่อนจ่ายนั้นงวดเข้ามา

เป็นหนูถีบจักรแห่งระบบเศรษฐกิจ

ที่ขับเคลื่อนก้าวหน้าด้วยหนี้สิน

(แน่นอน เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าจะมีใครสักคนไม่สามารถชำระหนี้)

หนูถีบจักรทั้งหลาย พรุ่งนี้วันจันทร์แล้ว

อย่าลืมชงกาแฟของคุณ แล้วดื่มด่ำกำซาบให้สมกับราคาเมล็ดพันธุ์และเครื่องชงหรูหราของคุณเถิด.

– – –

รายละเอียดเพิ่มเติม http://moneyandlifemovie.com

ป.ล. ต้องขอบคุณ Social change film fest. ที่ทำให้ผมได้ดูหนังสารคดีเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเสียเงิน

ชวนอ่าน DECONSTRUCT

IMG_1971

DECONSTRUCT ถอดรื้อมายาคติ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล เรียบเรียง จากคลาสบรรยายของ โรงเรียนนักข่าว TCIJ

ถ้าคุณคุ้นเคยกับคำว่ามายาคติ แต่ละบทในหนังสือเล่มนี้ก็ค่อนข้างจะพื้นฐานและไม่ใช่ของใหม่ แต่ก็เป็นการเรียบเรียงให้เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งเป็นบรรยากาศในห้องบรรยายที่มีการซัก-ถามอันคมคาย น่าสนใจ

แต่ถ้าไม่ได้คุ้นเคยกับการถกเถียงแลกเปลี่ยนทำนองนี้ ก็อย่าเพิ่งไปกลัวเหล่าคนบนปกที่หน้าตาค่อนข้างถมึงทึง :P เพราะถึงจะเป็นเรื่องซีเรียส อย่าง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความยุติธรรม วิทยาศาสตร์ การแพทย์ แต่ทั้งหมดนั้นใกล้ตัวเรามาก เหมือนปลายจมูกของคุณเองเลยทีเดียว

มองปกเผินๆ คิดซะว่าเป็น Monocle สิ จะอยากหยิบมาอ่านขึ้นป้ะ? :p

ป.ล. พาร์ทที่อ่านเพลินมากคือมายาคติว่าด้วยเรื่องชาติ บรรยายโดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ส่วนที่แหลมคมและท้าทายมาก คือเรื่องระบบศีลธรรม โดยวิจักขณณ์ พานิช

และส่วนที่คนรักในหลวงน่าจะอ่านได้โดยไม่ ‘ขึ้น’ เสียก่อน คือมายาคติเรื่องสถาบันกษัตริย์โดย ธงชัย วินิจจะกูล

เสียดายที่เล่มนี้ไม่ได้พูดถึงมายาคติด้านเศรษฐกิจ สักเท่าไหร่..รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ก็ยังไม่ค่อยได้เนื้อได้หนังนัก