Die tomorrow

รู้สึกเหมือนอ่าน scrapbook ของนวพลในช่วงปี 55-59 ที่คลิปปิ้งข่าว สัมภาษณ์สั้นๆ ฟุตเทจเก่า และวิดีโอไดอารี่

คือถ้าไม่เคยสบตากับมัน หรือหลบๆ เลี่ยงๆ แน่นอนว่านี่เป็นอาหารรสอ่อนละมุนที่ชวนครุ่นคิดถึงความตาย

แต่ถ้าเคยคิดถึงเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง สิ่งที่ดึงให้เราอยู่กับหนังน่าจะเป็นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น ภาพอยู่ในระยะค่อนข้างประชิด เฟรมภาพแบบจัตุรัสยิ่งให้รู้สึกเหมือนดูคลิปอินสตาแกรม อิริยาบถมีความเป็นส่วนตัว มีช่วงที่สายตา (กล้อง) จับจ้องสีหน้าเรียบเฉยของนางแบบสาวอยู่นาน นานจนเรามีเวลาได้ค้นลึกลงไปในดวงตาที่ผ่านไปหลายนาทีถึงมีน้ำตา (อันเนื่องจากการแสดง?)

สำหรับเรา ซีนเปิดเป็นซีนที่มีพลังที่สุด เหมือนเรานั่งอยู่ในวงสนทนานั้น เป็นธรรมชาติ ฟังความฝันอันไร้เดียงสาแต่ก็ไม่ไร้เดียงสาขนาดนั้น รู้สึกแปลกๆ นิดหน่อยที่แอบรู้อนาคตของหนึ่งในพวกเธอ ความฝันไหนหนอที่จะตายก่อนวัยอันควร รู้สึกแปลกๆ เพราะเรารู้สิ่งที่ไม่ควรได้รู้

เหมือนที่เด็กผู้ชายในทีเซอร์บอก

ซีนสุดท้ายเป็นฉากที่เรารู้สึกมีปัญหาที่สุด เราคุ้นหน้านักแสดงจากบทบาทอื่นๆ คิดว่าการเลือกน้าค่อมมาเล่นเป็นความจงใจแน่ๆ แต่ไม่รู้ว่าทำไม แถมพวงสร้อยเราดันรู้จักเป็นการส่วนตัว แสงสีและโทนภาพก็ดูดิบกว่าซีนอื่นๆ ทั้งหมดให้ความรู้สึกกับเราว่าเขาเป็นตัวละครและความตายสบายๆ นั้นไม่ได้ตายจริง พลังของหนังจึงพาเราไปไม่ถึงจุดนั้น (หรือจุดไหนก็ไม่รู้ที่คนดูอย่างเราอยากไปถึง)

มันเหมือนดู scrapbook ของเขาจริงๆ นะ กระทั่งตัวละครที่เหมือนเติบโตต่อเนื่องจากหนังก่อนๆ อย่าง ทราย ใน 36 ที่ทิ้งภาพถ่ายกล้องฟิล์มไว้ให้ดูต่างหน้า หรือการเติบโตผ่านเวลาของเมโกะและจูนจูน