ดูหนัง : เราสองสามคน

เรื่องเล็กในหนังใหญ่ / WAY vol.35

บายไลน์ : ณ ข ว ญ
พาดหัว : ระหว่างทาง ระหว่างเราสอง (สาม) คน

ภาพที่เราเห็นคือกองคาราวานรถซูซูกิ แคริบเบียน ที่ออกเดินทางข้ามพรมแดนจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 ผ่าผ่านลาวด้วยเส้นทางอินโดจีนหมายเลข 9 เข้าไปยังเวียดนาม… หากว่ากันในเรื่องข้อเท็จจริง การเดินทางไกล 4,000 กิโลเมตร โดยไม่มีจุดมุ่งหมายอะไรเป็นพิเศษ นอกจากการนำรถขับเคลื่อนสี่ล้อไปลุยทะเลทรายเพื่อทดสอบสมรรถนะ ดั้นด้นไปยืนหนาวมองดูหิมะขาวบนเทือกหิมาลัย เพื่อจะได้ดื่มด่ำรสชาติของมาม่าและปลากระป๋อง…คงพูดได้อย่างชัดเจนว่า นี่คือความฟุ่มเฟือยของคนขี้เบื่อ

แต่คนเราก็ยังเดินทางกันไม่ยั้ง จากที่นี่สู่ที่นั่น ถี่กว่านกอพยพทุกฤดูหนาว ถี่กว่าปลาแซลมอนว่ายทวนน้ำไปวางไข่ แถมไม่ค่อยได้อะไรกลับมานอกจากของฝาก แต่ในความฟุ่มเฟือยที่ว่า เรามักจะได้ ‘บางสิ่ง’ ตอบแทนกลับมา

ภาพยนตร์มักกล่อมเราว่าการเดินทางเชิงกายภาพนั้นสะท้อนการเดินทางภายใน

เมื่อไปถึงหมุดหมาย เราย่อมเติบโตและเปลี่ยนแปลง และนี่อาจจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับ ‘ราคา’ ที่จ่ายไปในระหว่างทาง

เช่นเดียวกับราคาของเวลา 2 ชั่วโมงที่ถูกฆ่าจนกลายเป็นศพเกลื่อนโรง เราก็น่าจะได้อะไรออกมาบ้าง เหมือนบางสิ่งที่เราหวังได้จากหนัง Road Movie ดีๆ สักเรื่อง เช่น อาการคันเท้ายิบๆ อยากออกเดินทาง หรือแรงบันดาลใจในการลุกจากที่นี่เพื่อไปที่นั่น แต่สิ่งที่ ‘เราสองสามคน’ เล่าให้เราฟังนั้นค่อนข้างเรียบง่าย เหมือนเรื่องคุยเล่นในวงเพื่อนฝูงมากกว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณใดๆ หนังเลือกที่จะตัดความฟูมฟายต่างๆ ทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นงานด้านภาพที่ดิบและปรุงแต่งน้อย (หากคุณเคยไปเวียดนามแบบนักท่องเที่ยวมาก่อน คุณก็จะเห็นเวียดนามอย่างนี้นี่แหละ) บทสนทนาเรื่อยๆ เรียงๆ ที่มีสาระน้อยมาก เหมือนกับชีวิตจริง…ที่เราถนัดการส่งเสียงเพียงเพื่อเติมช่องว่างในอากาศมากกว่าจะสื่อสารกัน

กรอบถูกวางไว้อย่างหลวมๆ ประเด็นที่โฟกัสเหลือเพียงเรื่องระหว่างคนสองสามคน แต่เราอาจจะเห็นอะไรบางอย่างที่พอจะอนุมานได้ว่าคือจุดเปลี่ยนผ่านของตัวละคร…มันซ่อนเร้นเอาไว้อย่างแนบเนียนจนไม่สามารถชี้ลงไปชัดๆ ว่าจุดไหน

แทรกผสมกลมกลืนระหว่างจุดเริ่มต้นของความรักแบบ
หนุ่มสาว และความรักที่ผ่านช่วงเวลายาวนานแบบเพื่อนสาว… ถึงตอนนี้เราชักจะรู้สึกว่ามันคือหนังรักมากกว่า

สุนผู้หูตึงบอกว่า เธอไม่สามารถแน่ใจในอะไรได้อีกต่อไป ทั้งๆ ที่ผ่านมาเธอเปี่ยมด้วยความมั่นใจ เพียงนำถ้อยคำเลือนรางนั้นมา
ปะติดปะต่อกับการขยับของริมฝีปาก ท่าทาง และแววตา เธอสามารถอนุมานเป็นเรื่องราวเพื่อทำความเข้าใจ

วันหนึ่งเธอพบว่าบางความรู้สึก (ที่ช่างซับซ้อนเวียนหัวยิ่งนัก) นั้นไม่อาจอาศัยการอนุมานได้

มันต้องการความชัดเจน

เต๋อมองไม่ชัด

การมองไม่ชัดทำให้เราเข้าใจผิด ภาพเบลอๆ ที่เต๋อเห็นนั้นดูสวยงาม บางสิ่งที่คิดว่าเห็นชัด กลายเป็นเรื่องซับซ้อนน่าเวียนหัวพอกัน เมื่อมองชัด สิ่งที่ปรากฏสวนทางกับสิ่งที่เคยเข้าใจ เราผิดหวัง

ความเศร้าอนุญาตให้เราใช้เวลา ‘เล่นมิวสิคฯ’ สักพัก แต่เมื่อเพลงจบ เราจะมองเห็นความงามของความจริง

สิ่งที่สร้างความมั่นใจให้แก่นักอนุมาน (ที่ประกอบสร้าง
ความจริง) คือความไว้เนื้อเชื่อใจที่สุนมีต่อเต๋อ

ชัดเจนว่าระหว่างสองคนนี้ — คือความรัก

สุดท้ายแล้วกิจกรรมฟุ่มเฟือยนี้อาจไม่ได้ให้อะไรเลย การเปลี่ยนผ่านของตัวละครไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 3 วัน 7 วัน (หรือ 2 ชั่วโมง) การเดินทางอาจเป็นเพียงการพักร้อน เราหลบไปจากกิจวัตรซ้ำซากชั่วคราว ไปในสถานที่แปลกตา แล้วถ่ายรูปกับแลนด์มาร์ค
(หรืออย่างร้ายที่สุด—ป้าย) เพื่อจะบอกว่าที่นี่คือที่ไหน มองคนที่
แตกต่างแล้วอนุมานไปว่ามองเห็นวิถีชีวิต กินอาหารในร้านที่ขึ้นชื่อว่าเป็นของประจำถิ่น นอนโรงแรม/เกสต์เฮาส์/โฮมสเตย์ ช็อปปิ้งใน
ตลาดท้องถิ่นที่สินค้าล้วน Made in China

หรือเพียงฆ่าเวลาในในโลกของภาพยนตร์ด้วยการนั่งมองชีวิตของคนที่กำลังฆ่าเวลาอีกที

ถึงจะไม่ได้อะไรเลย แต่เมื่อเรากลับถึงบ้าน เมื่อไฟในโรงภาพยนตร์
ค่อยๆ สว่าง

มีสิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้อยู่เสมอ

คือโอกาสทำความคุ้นเคยกับการจากลา

หนังให้ความรื่นเริงบันเทิงใจ และเสียงหัวเราะตามธรรมชาติมากกว่าหนังตลก ส่งผลให้เราสามารถหันไปยิ้มกับคนข้างๆ ได้อย่างมีความสุข

เราลุกออกมา สมทบกับคนแปลกหน้าที่ดุ่มเดินไปยังห้องน้ำ ล้างมือแล้วจึงสบตามองกระจกเงา

ยิ้มนิดๆ ให้กับความรักระหว่างตัวละครบนโลกใบนี้ ตัวละครที่เพิ่งเริ่มออกเดินทาง

แล้วลองกล่าวคำอำลาอย่างแผ่วเบา

ซ้อมไว้ก่อนน่ะ จะได้ไม่เศร้ามาก

ใส่ความเห็น