เราบังเอิญสวนกันในหน้าฟีดส์

เราบังเอิญสวนกันในหน้าฟีดส์
เห็นกิจกรรมระหว่างวันตามไทม์ไลน์
รู้ว่าคิดอะไร ปลาบปลื้มสิ่งใด โกรธเกรี้ยวเรื่องใด
เราเชื่อมต่อกันแม้มิได้เอื้อนเอ่ยเพียงสักคำ

แล้วเราก็โกรธกันได้แม้ไม่ได้ทะเลาะซึ่งๆ หน้า
แต่ก็รู้ว่าบทสนทนาที่ยังไม่เกิดจะนำพาไปเช่นนั้น
น่าแปลกที่จินตนาการในทางที่ดีนั้นช่างยากเย็น
และต้องย้ำว่าทั้งหมดนั้นก็เพียงจินตนาการ
เรายังไม่ทันได้สื่อสารกันแม้เพียงคำ

เราเห็นกันและกันในสตอรี่
เสี้ยวนาทีสั้นๆ นั้นช่างดูดีน่าสนใจ
เราทักแชทไปและรอคอยสัญญาณตอบกลับ
แอร์ดรอปบ่งบอกจุดพิกัด
ความสัมพันธ์แบบเปิดกล่องสุ่ม
เราจุ่มตัวลงไปในแอ่งน้ำของความไม่แน่นอนเหล่านั้นให้ตัวชื้นๆ

ใน #เหล่านั้น
บางทีเราก็เป็นได้แค่คนอื่น
ดาษดื่นอีกหนึ่งคน

normal people

มีหนังสือหลายเล่มที่เพ่งพินิจเรื่องความสัมพันธ์ เล่มนี้ออกตัวว่าเป็นเรื่องของคนธรรมดา ซึ่งแตะๆ ไปมุมโน้นทีมุมนี้ทีจนมันก็ธรรมดาจริงๆ ..

เรื่องก็ร่วมสมัยดี สภาพสังคมก็อัพเดทดี การก่อร่างสร้างบุคลิกก็ละเอียดดี และค่อนข้างวางคาแรกเตอร์ให้คนอ่านสวมทับบทบาทได้ ในช่วงวัยกึ่งเด็กกึ่งผู้ใหญ่ที่เป็นช่วงที่ปั่นป่วนที้สุด ที่หากจำได้ก็มีอารมณ์ร่วมได้ไม่ยาก

แต่พออ่านจนจบ ไม่ได้ชอบอะไรเล่มนี้เลย เหมือนเราเป็นคนหนึ่งในโรงเรียนที่คงไม่กรี๊ดกร๊าดคนป็อปอย่างคอนเนล และก็คงไม่ไปบุลลี่อะไรคนอย่างแมรีแอนน์ด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่สองคนนึ้หมกมุ่นหนักหนาในตัวตนของกันและกัน(อันสะท้อนภาพด้วยสายตาของคนอื่น) จึงเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่า ไม่น่าสนใจเลย

ทั้งที่มันมีมุมน่าสนใจในแบ็คกราวด์ของตัวละครมากๆ นะ ทั้งการเป็นหนอนหนังสือ การใส่ใจถกเถียงเรื่องการเมือง ความฌ่วลๆ ทั้งหลาย แต่มันเป็นเหมือนผักชีในชั้นวิชาวรรณกรรมที่ “พวกเขาสามารถวิพากษ์วิจารณ์อย่างมั่นอกมั่นใจได้โดยที่ไม่ได้อ่านหนังสือเหล่านั้นมาก่อน” หรือ สอบชิงทุน และเล่าผ่านปากตัวละครสลับกันชมหลายครั้งหลายหนว่า “เธอ(เขา)เป็นคนฉลาดมาก”

แน่นอนว่าหนังสือโฟกัสเรื่องความสัมพันธ์ แต่พอมันพิงหลังลงในความสัมพันธ์ โดยความสัมพันธ์ และเพื่อความสัมพันธ์เท่านั้น (แบบวัยว้าวุ่นมั่กๆ) มันเลยอ่อนยวบและผลักมิติอื่นๆ ลงไปเป็นฉากหลังอันแสนจะดาษดื่น

ทั้งที่ตัวเรื่องราวมันมีรายละเอียดยุบยับไปหมด ไม่ว่าจะเป็นลอร์เรน (แม่ที่แสนดีเสมอต้นเสมอปลาย) หรืออลัน ไอ้พี่ชายจอม abuser หรือกลุ่มเพื่อนที่แต่ละตัวถูกสร้างขึ้นมา แต่พอถูกสร้างแล้วสวมบทบาทใช้แล้วทิ้ง ใช้แล้วทิ้ง มันก็เลยดูไร้ชีวิตไปสักหน่อย

ตั้งแต่กลางเล่มจนจบ เหมือนหนังสือพยายามลงลึกไปในภาวะมาโซคิสต์ แต่ก็ยั้งๆ ไว้ เหมือนจะไม่แน่ใจว่าอยากพาคนอ่านไปถึงไหนกันแน่

หรือเรื่องทั้งหมดนึ้สะท้อนภาพจำลองของยุคสมัยนี้ ที่ทุกคนตื่นรู้กับประเด็นทางสัมคมต่างๆ มากมายแต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากเมาแล้วทำให้ทุกอย่างเป็นมุขปัญญาชนเสียให้หมด

fast and feel love

มันจะมีคนประเภทหนึ่ง (ลักษ์ 2) ที่มีความใจดี ชอบดูแลผู้อื่นเป็นงานอดิเรก ไม่ได้มีความฝันอะไรใหญ่โต เกิดมาเพื่อเล่นบท supporter

แต่คนประเภทนี้ถึงจุดหนึ่งก็จะค้นพบความต้องการของตัวเอง และในใจก็จะมีบางแวบความรู้สึกเปรียบเทียบ ว่าตนเอง support คนอื่นมาทั้งชีวิต แต่พอถึงคราวตนเองต้องการอะไรสักอย่าง ช่างไม่มีใครช่วยอะไรเราได้เลย หรือถึงช่วยได้ก็ไม่มีใครอุทิศตัวให้เราอย่างที่เราทำให้คนอื่น

มันจะมีคนอีกประเภทหนึ่ง ที่มีความหมกมุ่นเป็นเจ้าเรือน คนพวกนี้ชัดมากว่าตัวเองต้องการจะทำอะไร และเมื่อเลือกทำอะไรแล้ว เรื่องนอกเหนือจากนั้นก็เป็นแค่เรื่องหยุมหยิมกวนใจ เขาจะมีประโยคติดปากคือ “มันจะไปยากอะไร กะอีแค่xxx”

แต่นอน เขาไม่เคยรู้หรอกว่าจริงๆ มันเป็นยังไง เพราะเขาไม่เคย ‘ลงมือทำ’ สิ่งจุกจิกหาสาระอะไรมิได้เหล่านั้น

(หรือถ้าเคยทำ ก็ทำแบบงานอดิเรก — การซักผ้าทุกอาทิตย์ไม่เหมือนอะไรกับการซักผ้าครั้งที่นึกจะซักหรอกนะ)

หนังโฟกัสที่ปัญหาจำพวก “กะอีแค่” ทั้งเล็กไปจนถึงใหญ่ ตั้งแต่การจ่ายค่าน้ำค่าไฟไปจนถึงการขายบ้าน เอาเข้าจริงถ้ามองแบบ bird eyes view ปัญหาเหล่านี้ก็เป็นเรื่อง กะอีแค่ จริงๆ แต่เพราะกะอีแค่xxพวกนี้ ความรักของมนุษย์จึงอัปปางกันมานักต่อนัก

หนังเล่าปัญหาจริงจังและเรียลมากๆ ผ่านตัวละครที่คอมิคหน่อยๆ มันก็อาจจะมีบ้างที่คนจริงๆ แกว่งไปอยู่สุดขอบของสเปคตรัมแบบคู่นี้ แต่โดยมากคนทั่วๆ ไปมักอยู่ถัดเข้ามาตรงกลาง กระทั่งคนที่หมกมุ่นอะไรมากๆ เท่าที่เคยพบเคยเห็น คนเหล่านี้ก็หมกมุ่น (หรือกระหาย) อะไรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นบทจะซึ้งจะอินตามเลยถูกขัดจังหวะเกือบตลอดเวลาด้วยความตลก(ร้าย)ของตัวละครและจังหวะหนังแบบมีมๆ

อีกอย่างที่ค่อนข้างเสียดายคือความไปไม่สุดขอบของมันทั้งที่ออกแบบเหมือนจะให้สุด เช่น ความหมกมุ่นขั้นสุดของตัวละครถูกนำเสนอออกมาแบบเจือจาง ด้วยการออกแบบบท (พูดง่ายๆ ว่า บทไม่ส่งมึงเล่นสแต็คจนเลือดอาบมือแล้ว นั่นคือจุดพีคในพาร์ทแรกๆ ของหนัง แต่จากนั้นกราฟก็เรียบๆ และดิ่งลง ดิ่งลง แข่งชิงแชมป์โลกแบบ wfh เนี่ยนะ.. ตรงกันข้ามกับหนังอย่าง whiplash ที่ตีกลองเลือดอาบ แล้วยังเป็นกราฟพุ่งๆๆๆ พุ่งอีก พุ่งได้อีก!)

เขียนถึงตรงนี้ก็พอจะระลึกได้แล้วว่าทำไมหนังถึงไม่ได้ไต่เส้นจนรุกล้ำเข้ามาติดตรึงในใจได้ กล่าวคือตัวละครที่วางคาแรกเตอร์ไปสุด ในสถานการณ์ที่อินตามได้ง่ายๆ มันไม่ยอมไปให้สุด

ลองนึกภาพเจไปสปาร์คจอยกับคนลักษ์ 2 สักคน หรือเกาเล่นชู้กับผู้จัดการโรงเรียน หนังคงมันส์กว่านี้เยอะ

นักวิจารณ์

ตอนเป็นเด็กหนุ่มเรามีน้าคูลๆ หลายคนแวะเวียนมาสนทนากับแม่พ่อ น้าคนหนึ่งทำงานสายศิลป์ๆ และก็เป็นหนึ่งในคนที่คุยกันบ่อย กระทั่งแกเป็นคนคะยั้นคะยอให้เขียนบทกวีส่งไปนิตยสาร (แต่ตอนนั้นไม่ผ่านมาตรฐาน บ.ก. อะนะ เด็กมัธยมวันๆ เรียนหนังสือมันจะไปเขียนถึงอาไร้) คิดดูแล้วชีวิตวัยทีนของข้าพเจ้าก็คล้ายแบบจำลองของชีวิตวัยนี้ เพียงแต่ตอนนั้นไม่ค่อยมีผลลัพธ์อันใดปรากฏ

มีครั้งหนึ่งน้าถามว่าอยากทำอะไร ในใจน้าคงมีชอยส์ประมาณ เพนท์ ปั้น ทำหนัง โฆษณา นักเขียน หรืออะไรแนวๆ นั้นที่อยู่ในหมวด ‘ผู้สร้าง’ แต่ข้าพเจ้าคิดอะไรอยู่ไม่รู้ตอบสวนไปว่า “อยากเป็นนักวิจารณ์” (สงสัยช่วงนั้นติดอ่านแมกกาซีนแหงๆ) รีแอ็คชั่นของน้าชัดมากในความทรงจำจนทุกวันนี้ คือใบหน้าที่เปื้อนยิ้มยียวนเสมอๆ นั้นคิ้วยู่ขึ้นมาทันที น้าพูดเรียบๆ แต่สำเนียงปะทุปิดไม่มิด นักวิจารณ์เหรอ อย่าเลย… เราจึงเข้าใจตั้งแต่นั้นว่าผู้นับตัวเองในหมวดผู้สร้างมักจัดลำดับชั้นตนเองอยู่สูงกว่าผู้วิจารณ์เสมอ

เวลาผ่านไปนาน ชีวิตก็พาห่างกับคนที่เคยคุ้นเคย ได้ขลุกอยู่ในวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ สภาพสังคมก็เปลี่ยนไปมาก เราไม่จำเป็นต้องอ่านแมกกาซีนแต่สามารถได้รับรู้คำวิพากษ์วิจารณ์มากมายก่ายกองในเกือบทุกเรื่องทุกประเด็น ทั้งแบบที่กลั่นกรองแสดงทัศนะและแบบที่ถุยๆ ออกมาตอนคันคอ

ชีวิตการงานก็พาให้ต้องรับมือกับความคิดเห็นเสมอๆ จากทุกทิศทุกทาง ทั้งคนที่เราให้ค่าและคนที่เราไม่รู้ว่าเขาพูดภาษาอะไร ทั้งคนที่ไม่ได้ให้คุณให้โทษอะไรแต่เราแคร์ ไปจนถึงคนที่จริงๆ ไม่ได้แคร์อะไรเลยแต่เขาเป็นเจ้าของเงิน (ฮา)

สิ่งที่สรุปกับตัวเองในวันนี้ก็คือ เล่นบทไหนก็เล่นให้เต็มที่ จะผู้สร้างหรือผู้วิพากษ์ก็ตามแต่ คนที่เล่นได้ดีในสนามมักจะสามารถถอดวิญญาณลอยออกมามองในมุมสูงได้ และคนที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ดี ก็มักจะเป็นคนที่ตระหนักถึงข้อจำกัดในมุมมองสายตา (ถึงอยู่สูงแค่ไหนแต่ใครมันจะไปเห็นแบบพระเจ้าได้)

การวิจารณ์ที่ดีจึงต้องใช้ความสามารถมากๆ เพราะถึงคุณจะอยู่นอกสนาม แต่สุดท้ายคุณก็อยู่ในสนามที่ใหญ่กว่า สนามใดสนามหนึ่ง… เสมอ

ทำไมคนเราถึงต้องอยู่ด้วยกันน่ะหรือ

ทำไมคนเราถึงต้องอยู่ด้วยกันน่ะหรือ
อาจเพราะเราเป็นสัตว์ที่มีสองแขนสองมือ
แต่สิ่งที่อยากจับอยากถือมีมากเหลือเกิน

สองขาก็มิอาจยืดหยัดได้นาน
สองตาก็มองเห็นได้เพียงแค่นั้น

เราต่างต้องการใครมาระวังหลังอันเปล่าเปลือย

เป็นสัตว์สื่อสารที่ถนัดแลกเปลี่ยนความคิดให้ผลิดอกงอกงาม

เป็นสัตว์ที่ถนัดทำผิดทำพลาดพลั้ง

และความคิดที่อยู่ในกะโหลกศีรษะแคบแคบนั้น
เราต่างสรุป
ว่ามันเป็นความจริงเสมอ

ทำไมคนเราถึงต้องอยู่ด้วยกันน่ะหรือ

เพราะเราต้องทะเลาะกัน

เพราะเราต้องเถียงต้องถกกัน

เพราะเราต้องขัดแย้งกัน

เพราะเราต้องขัดกัน

ทำไมคนเราถึงต้องอยู่ด้วยกันน่ะหรือ

อาจเพราะชีวิตหนึ่งหน่วยนั้นคับแคบนัก
แต่ครอบงำไปทั้งดาราจักรด้วยผัสสะทั้งหก

ฮาวทูทิ้ง คู่มือการจัดการความทรงจำร่วม (ฉบับล้มเหลว)

ประโยคคมๆ ในหนังมีหลายประโยค พึมพำแบบไม่ใคร่อยากจะอ้าปาก ไม่ค่อยอยากจะยอมรับ เช่นเดียวกับคำขอโทษ 

ประโยคเหล่านั้นลืมได้ ยกเว้นประโยคที่ว่า “มึงทิ้ง มึงทำลืมๆ ไป แล้วคิดว่าจบ แต่ถ้าอีกฝ่ายเขาไม่ลืมด้วยก็ไม่จบเสียหน่อย”

ประเด็นที่คนดูช่างตัดสินอย่างข้าฯรู้สึกคือ ตอนทิ้งสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งของ ทำไมมึงไม่ทิ้งแบบสง่าผ่าเผย บอกเลยให้ชัดเจนวะ

“นั่นไม่ใช่ปัญหาของเรา” ก็จริงแค่ตอนพูด เพราะก็เห็นๆ กันอยู่ว่าจากจุดนั้น คือจุดเริ่มต้นของปัญหาประดามี aka ความรู้สึกผิด

สามปีที่เคยทิ้งผู้คนอย่างแกล้งทำลืม กลับมาจะ ‘รีโนเวท’ บ้าน 

“นี่มันยุคของพวกเราเว้ย”

การทิ้งของใช้ในความทรงจำ ทิ้งแบบซึ่งๆ หน้า สง่าผ่าเผย ชัดเจน แต่… ของที่ทิ้งนั่นเป็นของของคนอื่น เป็นความทรงจำร่วม เป็นแนวคิดประเภท “เชื่อฉันสิ ทำตามอย่างที่ฉันบอกสิ ชีวิตพวกเธอจะดีกว่า” 

การทิ้งที่หนังสาธิตอย่างมากมายนี้ คือการทิ้งเพื่อ transform ไปสู่บางสิ่ง ที่เจ้าตัวคิดว่าจะนำไปสู่ความสุข หลักคิดเดียวกับผู้ที่มักพูดว่า “ผังเมือง กทม. มันเกินเยียวยา ต้องให้ระเบิดลงก่อนแล้วค่อยวางใหม่”

ล้างบางให้หมด เหมือนการโยนทุกสิ่งลงถุงดำ ไม่เสียเวลาประเมินคุณค่าสิ่งใด

พี่ชายและมุมร้านขายสูทออนไลน์ ที่เป็นตัวประกอบสายซับฯ ไม่เคยคัดง้างขัดแย้งอะไรกับใครเลย และเห็นด้วยคล้อยตามกับจีนได้ในประโยคเดียว “พอรู้สึกว่าแคบแล้ว ก็รู้สึกเลยว่ะ” 

ในเรื่องนี้ ผู้ที่ได้กำไรเหนาะๆ คือชายนักสะสม เขาเห็นขุมทรัพย์จากอดีต เขาฉกฉวยประวัติศาสตร์ เขาเป็นชาวต่างชาติ (555 เต๋อมันร้าย)

แต่

หนังวางท่าทางเป็นการอุปมา metaphor ของการทิ้ง กิริยาของมัน และผลพวงของมัน หนังพาเราส่องกล้องจุลทรรศน์ดูปฏิกิริยาลูกโซ่เหล่านั้น การทิ้ง ผู้ทิ้ง ผู้ถูกทิ้ง การสลับบทบาทเหล่านั้น สิ่งของ ตัวละครในบ้านหลังนี้ โดยเฉพาะจีน เหมือน ‘ถูกกำกับ’ ให้เล่นเป็นคนที่เล่นเป็นคนมินิมัล เล่นแบบกึ่งๆ จะเสียดเย้ย เหมือนล้อเลียนเป็นตลกร้าย

พอหนังทำคนดู (ข้าพเจ้า) แบบนั้น ท่วงท่ากิริยาของทุกตัวละครจึงไม่ใช่คนที่รู้สึก แต่แสดงเพื่อสื่อสารเนื้อความเบื้องลึกแบบ conceptual

เสียงทรัมเป็ตยิ่งพาใจให้ไปทางคอมมิดี้ ผิดที่ผิดทางเหมือนการ์ตูน loony tunes ตัดภาพแบบไร้หัวใจ กุหลาบเก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอกก็ไม่อาจพิสูจน์ความรักได้

 (รายละเอียดงานสร้าง มีเรื่องให้พูดได้อีกเยอะ แต่ขอละไว้ในข้อเขียนนี้)

ดูหนังไปครึ่งเรื่อง คนดูก็ถูกทิ้งแล้ว “มึงไม่ต้องไปรู้สึกมาก พวกเรากำลังแสดงให้ดูเฉยๆ”

เอาล่ะ จนกระทั่งหนังจบ เราทิ้งอะไรไปบ้าง 

  • ทิ้งชีวิตที่สวีเดน (หรือเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฯลฯ ที่ไหนก็ตามที่เราได้โอกาสไปเรียนต่อ/ทำงาน) แล้วกลับมาใช้ชีวิตต่อที่ไทย (ไม่เห็นจะศิวิไลซ์เท่า แต่ก็ต้องกลับมา/แต่ก็คิดถึงบ้าน)
  • ทิ้งตัวตนในวัยเยาว์ (แฟนเก่าคบกันสมัยเรียน แต่โทษที ฉันในตอนนี้ไม่ใส่เสื้อยืดมีลายไอติมคิ้วท์ๆ แล้ว — มันเสร่อ)
  • ทิ้งเพื่อนสมัยเรียน (โตมาก็มีเทสต์คนละแบบ จุดมุ่งหมายในชีวิตคนละอย่าง กระทั่งมีความคิดเห็นทางการเมืองคนละฟาก)
  • ทิ้งความทรงจำ เมื่อก่อนที่เราเคยรักกัน (ไม่มีอะไรเหมือนเดิมแล้ว เราไม่ได้รักกัน ‘ขนาดนั้น’)

บุลเล็ตที่ผ่านมาเหมือนเราเป็นฝ่ายทิ้ง แต่คำว่าทิ้งมันบังตา อันที่จริง ทิ้ง คือกิริยาสองทาง

บอกตัวเอง ว่าเราคือคนทิ้ง จะได้มีความภูมิใจในตนเหลืออยู่

บอกผู้อื่น ว่าถูกทิ้ง จะได้มีความชอบธรรมในการฟูมฟายเบาๆ

บอกเราทุกคนว่า “เฮ้ย คุยกันปกติแล้ว มุ๊ปอรแล้ว” จะได้เหลือความเป็นมนุษย์ชำรุดๆ ที่ไม่เห็นจะมินิมัล และไม่เห็นจะพุทธตรงไหน

(มึงจะบอกอะไรใครก็เรื่องของมึง แต่ถ้าจะทิ้ง…โทรมาตามนามบัตรนะครับ)

การตัดสัมพันธ์

ฉันไม่ได้เกลียดเขา แต่รังเกียจคำพูดคำจาของเขามากๆ

ฉันเลยกด get notification และให้เขาเป็น close friend คนเดียวของฉัน จากนั้นฉันก็กดไลค์ทุกการกระทำของเขา ทุกครั้ง ทันทีทันใด

เกมนี้ดำเนินไปไม่ถึงวัน สุดท้ายเขาจึงบล็อคฉัน.

09112014

สามสี่มื้อ หนึ่งสังสรรค์ หนึ่งสระน้ำ หลายขวด หลายกลม น้ำแข็งมากมายปานกระเทาะจากขั้วโลกใต้แต่ก็ยังไม่พอบรรเทาความร้อนเร่าของกลางวัน ยังดีที่มีกลางคืนให้เสียงเพลงคลุมไว้บางบาง

นานมาแล้วเคยนึกอยากบันทึกอย่างซื่อตรงเป็นลายลักษณ์อักษร แต่บางทีเรื่องจริงก็ไม่ได้บรรจุความจริง และบางความจริงก็ไม่มีประโยชน์อะไร ต่อมาจึงพบว่าแค่จำไว้หลวมๆ ก็น่าจะเพียงพอ เป็นภาพถ่าย 3X5 ที่แปะฝาผนังไว้ แสงแดดลามเลีย แต่ไม่เป็นไร

ฉะนั้นจึงไม่มีเรื่องเล่าที่ชัดเจน ไม่มี ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ทำไม
ก็แค่คนกลุ่มหนึ่งที่มีเส้นทางตัดกัน ณ จุดนัดพบ
แล้วใช้จุดนั้นเป็นพิกัดอ้างอิงตำแหน่งแห่งที่ของตัวตน — สัตว์ประหลาดที่โดนเวลาฉุดลากให้เดินหน้าไปไกลห่างจากจุดตัดเก่าเก่า

สัตว์ประหลาดมีเขี้ยวมีหนัง มีเกล็ดมีกรามมีหางมีเขา
มีซิปที่กลางหลัง
รูดพลันกระโดดตูมลงสระน้ำ

สบาย.

011212

 

มีคำกล่าวว่า อย่าโพสท์เฟซบุ๊คตอนเมา อย่าโทรหาแฟนเก่าตอนอกหัก และอย่าตีโพยตีพายในที่สาธารณะ

ทั้งหมดนั้นสมเหตุสมผลดี ไม่ต้องฉลาดนักก็รู้ว่าคำเตือนนั้นมีเหตุผลอย่างไร

นักจดบันทึกแม้จะไม่ได้ถูกเตือน แต่ก็มีความคล้ายคลึงสถานการณ์ข้างต้นอยู่บ้าง นักจดบันทึกจะบันทึกอารมณ์ห้วงนั้นๆ ที่เข้มข้นจนกลั่นหยดเป็นวลี เชื่อมด้วยแรงยึดเหนี่ยวเป็นประโยค ที่บรรจุในภาชนะของเรื่องราว

ถ้อยคำล้วนกลายเป็นอดีตทันทีเมื่อ

ถูกบันทึก และห้วงอารมณ์ก็ปลิวกระจายหายไปไม่เหลือเค้า

แต่นักบันทึกก็ยังจดบันทึก และยิ่งกว่านั้นคือลงวันเวลาให้รัดจนดิ้นไม่หลุด แต่หารู้ไม่ว่าตัวเลขของเวลานั้นไม่มีค่าอะไรเลย

เพราะอย่างที่บอก… มันเป็นอดีตในทันทีที่ปรากฏขึ้นมา

.

ในร้านคิโนะคุนิยะ หมวดหนังสือศิลปะที่เป็นภาษาไทย มีหนังสืออยู่ไม่กี่เล่ม และสองเล่มที่วางคู่กันเกี่ยวพันกับซัลวาดอร์ ดาลี เล่มหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์แบบทางการ (กระแสหลัก) ที่มีเรื่องาวไล่ตามปี ค.ศ. ตั้งแต่เกิดจนตาย งานชิ้นเด่น ชีวิตและอิทธิพลในวัยเด็ก ชีวิตสมรส คุณูปการต่อศิลปะแนวเหนือจริง และอื่นๆ เหมือนเรื่องราวที่มักถูกบรรจุลงในแบบเรียนของนักเรียนชั้นประถม

อีกเล่มที่วางข้างๆ กันเป็นเรื่องราวของซัลวาดอร์ ดาลี เช่นกัน แต่ถ้าอ่านแล้วอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า ดาลี มีสองคนอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะดาลีในหนังสือเล่มนี้เป็นชายเพี้ยนวิปริตที่ทำเรื่องโสมมทุกทางในการสร้างผลกำไร และเรียนรู้ว่าจะขยับนิ้ววาดรูปให้เมื่อยไปทำไมหากว่าขยับนิ้วเซ็นต์ลายเซ็นต์ลงบนแคนวาสเปล่าๆ แล้วได้เช็คเร็วกว่า

เราจะไม่พูดกันว่าเล่มไหนเป็นความจริง เล่มไหนเป็นความเท็จ หรือส่วนไหนเป็นเรื่องจริง ส่วนไหนเป็นเรื่องเท็จ ยังไงดาลีก็กลายเป็นปุ๋ยไปแล้ว และนั่นก็คือ 2 วิธีที่เราสามารถมองเขาได้ในหลายๆ วิธี

.

นักจิตวิทยาหลายคณะทำการทดลองหลายรูปแบบ จนสามารถสรุปได้กว้างๆ ว่า ความเครียดที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์มากที่สุด คือความเครียดอันเกิดจากการรู้สึกว่า ตนเป็นอย่างไรในสายตาผู้อื่น

“ตนเป็นอย่างไรในสายตาผู้อื่น” เป็นคำถามที่ไม่สามารถถามได้อย่างง่ายดาย ก่อนอื่นเราจะต้องแยกความรับรู้ออกมาจากตัวเอง เสมือนเป็นดวงตาที่มองเข้ามาจากภายนอก ประเมินภาพตัวเราเองที่ดวงตานั้นมองเห็น แล้วแปลผลกลับไปเป็นการแสดงออกที่เราคิดว่า ดูดีที่สุด ในสายตาช่างประเมิน — ของตัวเราเอง

และพฤติกรรมหลังจากนั้นจะเป็นเรื่องของการแสดง.

ดูหนัง : เราสองสามคน

เรื่องเล็กในหนังใหญ่ / WAY vol.35

บายไลน์ : ณ ข ว ญ
พาดหัว : ระหว่างทาง ระหว่างเราสอง (สาม) คน

ภาพที่เราเห็นคือกองคาราวานรถซูซูกิ แคริบเบียน ที่ออกเดินทางข้ามพรมแดนจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 ผ่าผ่านลาวด้วยเส้นทางอินโดจีนหมายเลข 9 เข้าไปยังเวียดนาม… หากว่ากันในเรื่องข้อเท็จจริง การเดินทางไกล 4,000 กิโลเมตร โดยไม่มีจุดมุ่งหมายอะไรเป็นพิเศษ นอกจากการนำรถขับเคลื่อนสี่ล้อไปลุยทะเลทรายเพื่อทดสอบสมรรถนะ ดั้นด้นไปยืนหนาวมองดูหิมะขาวบนเทือกหิมาลัย เพื่อจะได้ดื่มด่ำรสชาติของมาม่าและปลากระป๋อง…คงพูดได้อย่างชัดเจนว่า นี่คือความฟุ่มเฟือยของคนขี้เบื่อ

แต่คนเราก็ยังเดินทางกันไม่ยั้ง จากที่นี่สู่ที่นั่น ถี่กว่านกอพยพทุกฤดูหนาว ถี่กว่าปลาแซลมอนว่ายทวนน้ำไปวางไข่ แถมไม่ค่อยได้อะไรกลับมานอกจากของฝาก แต่ในความฟุ่มเฟือยที่ว่า เรามักจะได้ ‘บางสิ่ง’ ตอบแทนกลับมา

ภาพยนตร์มักกล่อมเราว่าการเดินทางเชิงกายภาพนั้นสะท้อนการเดินทางภายใน

เมื่อไปถึงหมุดหมาย เราย่อมเติบโตและเปลี่ยนแปลง และนี่อาจจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับ ‘ราคา’ ที่จ่ายไปในระหว่างทาง

เช่นเดียวกับราคาของเวลา 2 ชั่วโมงที่ถูกฆ่าจนกลายเป็นศพเกลื่อนโรง เราก็น่าจะได้อะไรออกมาบ้าง เหมือนบางสิ่งที่เราหวังได้จากหนัง Road Movie ดีๆ สักเรื่อง เช่น อาการคันเท้ายิบๆ อยากออกเดินทาง หรือแรงบันดาลใจในการลุกจากที่นี่เพื่อไปที่นั่น แต่สิ่งที่ ‘เราสองสามคน’ เล่าให้เราฟังนั้นค่อนข้างเรียบง่าย เหมือนเรื่องคุยเล่นในวงเพื่อนฝูงมากกว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณใดๆ หนังเลือกที่จะตัดความฟูมฟายต่างๆ ทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นงานด้านภาพที่ดิบและปรุงแต่งน้อย (หากคุณเคยไปเวียดนามแบบนักท่องเที่ยวมาก่อน คุณก็จะเห็นเวียดนามอย่างนี้นี่แหละ) บทสนทนาเรื่อยๆ เรียงๆ ที่มีสาระน้อยมาก เหมือนกับชีวิตจริง…ที่เราถนัดการส่งเสียงเพียงเพื่อเติมช่องว่างในอากาศมากกว่าจะสื่อสารกัน

กรอบถูกวางไว้อย่างหลวมๆ ประเด็นที่โฟกัสเหลือเพียงเรื่องระหว่างคนสองสามคน แต่เราอาจจะเห็นอะไรบางอย่างที่พอจะอนุมานได้ว่าคือจุดเปลี่ยนผ่านของตัวละคร…มันซ่อนเร้นเอาไว้อย่างแนบเนียนจนไม่สามารถชี้ลงไปชัดๆ ว่าจุดไหน

แทรกผสมกลมกลืนระหว่างจุดเริ่มต้นของความรักแบบ
หนุ่มสาว และความรักที่ผ่านช่วงเวลายาวนานแบบเพื่อนสาว… ถึงตอนนี้เราชักจะรู้สึกว่ามันคือหนังรักมากกว่า

สุนผู้หูตึงบอกว่า เธอไม่สามารถแน่ใจในอะไรได้อีกต่อไป ทั้งๆ ที่ผ่านมาเธอเปี่ยมด้วยความมั่นใจ เพียงนำถ้อยคำเลือนรางนั้นมา
ปะติดปะต่อกับการขยับของริมฝีปาก ท่าทาง และแววตา เธอสามารถอนุมานเป็นเรื่องราวเพื่อทำความเข้าใจ

วันหนึ่งเธอพบว่าบางความรู้สึก (ที่ช่างซับซ้อนเวียนหัวยิ่งนัก) นั้นไม่อาจอาศัยการอนุมานได้

มันต้องการความชัดเจน

เต๋อมองไม่ชัด

การมองไม่ชัดทำให้เราเข้าใจผิด ภาพเบลอๆ ที่เต๋อเห็นนั้นดูสวยงาม บางสิ่งที่คิดว่าเห็นชัด กลายเป็นเรื่องซับซ้อนน่าเวียนหัวพอกัน เมื่อมองชัด สิ่งที่ปรากฏสวนทางกับสิ่งที่เคยเข้าใจ เราผิดหวัง

ความเศร้าอนุญาตให้เราใช้เวลา ‘เล่นมิวสิคฯ’ สักพัก แต่เมื่อเพลงจบ เราจะมองเห็นความงามของความจริง

สิ่งที่สร้างความมั่นใจให้แก่นักอนุมาน (ที่ประกอบสร้าง
ความจริง) คือความไว้เนื้อเชื่อใจที่สุนมีต่อเต๋อ

ชัดเจนว่าระหว่างสองคนนี้ — คือความรัก

สุดท้ายแล้วกิจกรรมฟุ่มเฟือยนี้อาจไม่ได้ให้อะไรเลย การเปลี่ยนผ่านของตัวละครไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 3 วัน 7 วัน (หรือ 2 ชั่วโมง) การเดินทางอาจเป็นเพียงการพักร้อน เราหลบไปจากกิจวัตรซ้ำซากชั่วคราว ไปในสถานที่แปลกตา แล้วถ่ายรูปกับแลนด์มาร์ค
(หรืออย่างร้ายที่สุด—ป้าย) เพื่อจะบอกว่าที่นี่คือที่ไหน มองคนที่
แตกต่างแล้วอนุมานไปว่ามองเห็นวิถีชีวิต กินอาหารในร้านที่ขึ้นชื่อว่าเป็นของประจำถิ่น นอนโรงแรม/เกสต์เฮาส์/โฮมสเตย์ ช็อปปิ้งใน
ตลาดท้องถิ่นที่สินค้าล้วน Made in China

หรือเพียงฆ่าเวลาในในโลกของภาพยนตร์ด้วยการนั่งมองชีวิตของคนที่กำลังฆ่าเวลาอีกที

ถึงจะไม่ได้อะไรเลย แต่เมื่อเรากลับถึงบ้าน เมื่อไฟในโรงภาพยนตร์
ค่อยๆ สว่าง

มีสิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้อยู่เสมอ

คือโอกาสทำความคุ้นเคยกับการจากลา

หนังให้ความรื่นเริงบันเทิงใจ และเสียงหัวเราะตามธรรมชาติมากกว่าหนังตลก ส่งผลให้เราสามารถหันไปยิ้มกับคนข้างๆ ได้อย่างมีความสุข

เราลุกออกมา สมทบกับคนแปลกหน้าที่ดุ่มเดินไปยังห้องน้ำ ล้างมือแล้วจึงสบตามองกระจกเงา

ยิ้มนิดๆ ให้กับความรักระหว่างตัวละครบนโลกใบนี้ ตัวละครที่เพิ่งเริ่มออกเดินทาง

แล้วลองกล่าวคำอำลาอย่างแผ่วเบา

ซ้อมไว้ก่อนน่ะ จะได้ไม่เศร้ามาก

ode to some cameras and some memory

กล้องตัวซ้ายคือ Nikon FM2
พ่อให้มาตอนช่วงปี 47 (ตอนนั้นกล้องก็ไม่ได้อยู่กะพ่อแล้ว แต่อยู่ที่เพื่อนพ่อ ซึ่งเพื่อนพ่อก็ไม่ได้เอาออกมาถ่ายนานแล้วเหมือนกัน ผมรับมันมาในสภาพใหม่กิ๊ก พร้อมเลนส์ติดกล้องคือ Sigma 50mm macro)
เหตุผลไม่มีอะไรมาก เราต้องลงเรียนวิชาถ่ายรูปและล้างอัดฟิล์ม ที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ภาพถ่าย

ตามประสาวิชาการ เราต้องนั่งท่องชื่ออวัยวะต่างๆ ของกล้อง SLR (รวมไปถึงการทำความรู้จักกันอย่างผิวเผินกับกล้องสายพันธุ์อื่นๆ ข้างเคียง) ศึกษากระบวนการสร้างภาพบนเนื้อฟิล์ม ทฤษฎีสีแสง และอื่นๆ อีกมากที่เคยท่องไว้สอบ แต่ป่านนี้ลืมสิ้น

ตามประสาวิชาแลป เราต้องเข้าห้องมืดสัปดาห์ละครั้ง เพื่อล้างฟิล์มและอัดรูป ซึ่งนับได้ว่าเป็นความทรงจำแสนสุขของผม

เราเข้าไปในห้องแคบๆ ที่มืดสนิท มืดจนเหมือนว่าตัวเราหายไป แต่ที่ฝาผนังมีสติ๊กเกอร์รูปดาวเรืองแสงแปะไว้ ไม่อย่างนั้นเราอาจเข้าใจผิดว่ากำลังยืนอยู่กลางหลุมดำ โหลดฟิล์มใส่คอนเทนเนอร์ด้วยมือที่งุ่มง่าม (อันจะชำนาญขึ้นในคราวต่อๆ ไป) หรือไม่ก็อ้อนอาจารย์รุจให้โหลดฟิล์มให้หน่อย

นำน้ำยาที่คุณป้าประจำแลปเตรียมไว้ให้เข้าไปในห้องล้าง ที่มีอ่างน้ำขนาดใหญ่ และนาฬิกาเข็มจับเวลาถอยหลัง

นับ 1 2 3 4 5 เขย่า 1 2 3 4  นับ 1 2 3 4 5 … ไปตามสูตรการล้าง

เราอาจจะนั่งคุยกันไป เขย่าคอนเทนเนอร์ไป แต่ส่วนมากเรามักจะนั่งกันเงียบๆ มากกว่า

แม้คนที่ช่างจ้อที่สุด ก็มักจะสงบถ้อยคำ

ความเงียบในห้องล้างนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความเงียบในห้องอัดนั้นล้ำลึกกว่า

แลปอัดภาพขาวดำนั้นไม่ได้มืดสนิท เราสามารถเปิดไฟสีแดงได้ เพราะแสงสีแดงไม่ทำปฏิกิริยากับกระดาษอัด ในห้องมีเครื่องอัดภาพขนาดใหญ่เทอะทะวางอยู่มุมหนึ่งให้ความรู้สึกน่าเกรงขาม ริ้วรอยของกาลเวลามีอยู่มากมายบนพื้นผิวของอุปกรณ์ตกยุคตกสมัยชิ้นนั้น

ตัดฟิล์มออกมาหนึ่งรูป รูปอะไรก็ได้ที่เราพอใจอยากจะให้มันปรากฎออกมาเป็นกระดาษ แล้วนำมาลองฉายแสงเพื่อกะเวลา

จากฟิล์มเนกะทีฟที่กลับดำเป็นขาว ฉายแสงลงกระดาษ แช่ลงในอ่างน้ำยา develop แล้วปรากฏภาพขาวดำ กระบวนการเหล่านั้นดูช่างน่าตื่นตาตื่นใจ ภาพแต่ละภาพที่เรากดชัตเตอร์ทิ้งๆ ขว้างๆ ในรอบสัปดาห์ พอมันปรากฎขึ้นมาบนกระดาษ เราก็หวังอยากให้มันออกมาสวยงาม

ความสวยงาม…ที่อาจจะสว่างไปบ้าง มืดไปบ้าง

แต่ทั้งหมดที่ว่ามาคือความทรงจำปะแล่มๆ ที่สวยงามอยู่ดี

– – –

หลังจากปี 47 เราก็หมดพันธะกับวิชาบังคับเลือกวิชานี้ บางคนอาจจะขายกล้องทิ้ง หรือยกให้รุ่นน้อง หรือซุกไว้ในล็อกเกอร์แล้วลืมมันไปในฐานะวัตถุโบราณ

แต่บางคนก็ไม่

เขาอาจจะพามันไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน จากย่างกุ้งมุ่งสู่รัฐฉาน มัณฑะเลย์ รับลมทะเลสาบอินเล เป็นการเดินทางที่น่าประทับใจ เพราะมีเพื่อนๆ FM2 อีกสามตัวมาเจอกัน โดยไม่ได้นัดหมาย

เขาอาจจะปันใจให้กล้องดิจิตัล ที่เบากว่า สะดวกกว่า และคุณภาพภาพดีกว่า

แต่เมื่อถึงเวลาต้องไปสูดอากาศจากเทือกเขาหิมาลัย แม้ใครต่อใครร่วมเส้นทางมักรู้สึกคล้ายๆ กัน คืออยากเหวี่ยงสัมภาระต่างๆ ทิ้ง…แต่เขาก็ไม่อาจตัดใจจากกล้องหนักๆ ตัวนี้

– – –

กล้องตัวขวาคือ Olympus OM-1N
ว่ากันตามตรงอายุอานามน่าจะมากกว่า FM2 อยู่หลายปี

ปีนี้คือปี 53 เรายังไม่มีเรื่องราวใดๆ ให้รำลึกถึงมากนัก แต่ภาพบางภาพที่ผมมองผ่านสายตาของกล้องตัวนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาของความสุข

มีแมวบางตัวในนั้น มีหมาบางตัวในนั้น มีคนบางคนในนั้น มีรอยยิ้มบางรอยยิ้ม และสถานที่บางแห่งที่ดูคล้ายจะเป็นห้องครัว

เราเพียงพรมนิ้วลงบนชัตเตอร์ ปรับวงแหวนความเร็วและรูรับแสง หมุนโฟกัสมองหาจุดที่เราสนใจ เราอาจจะกลั้นหายใจให้มือนิ่ง เราอาจจะรอเวลาที่ใครบางคนยิ้ม…

บางอย่างแยกกันไม่ออกระหว่างภาพจำ ภาพถ่าย ภาพจินตนาการ และเรื่องราวที่ผ่านกาลเวลา

ปีนี้คือปี 53 เดือนกรกฎา
ผมก็แค่หวังว่ามันจะเป็นปีที่ดี

.

.

.

.

(บางส่วนของภาพที่ยังหลงเหลือจากแลปล้างรูป)

ในวันเดินทาง

20022010
.

.

.

วันนี้ฉันตื่นเช้า
พยากรณ์อากาศด้วยอารมณ์ความรู้สึก ว่ามันจะสดใส
ใช่ มันสดใส

ฉันปั่นจักรยานออกไปช้าๆ บนถนนในยามเช้า เตรียมน้ำเปล่าหนึ่งขวดและขนมปังหนึ่งก้อน บนถนนระอุด้วยไอร้อนจากเครื่องยนต์ บนผิวกายระอุด้วยไอร้อนจากการสันดาปพลังงานของมื้อค่ำวันก่อน

เมื่อคืนเรากินอะไรนะ เรากินอะไรอะไรมามากมายทั้งชีวิต แปรเป็นพลังงานในการดำรงชีพ ระบายออกไปกับการถอนหายใจเป็นส่วนใหญ่ ทำอะไรอะไรมีคุณค่าเป็นส่วนน้อย

สองข้างทางมีอะไรบ้าง สองข้างทางมีคนมากมายที่เราผ่านไป บางคนเรายิ้มให้ บางคนเราชูนิ้วกลางใส่ คนส่วนมากเป็นคนแปลกหน้า แต่แม้จะเป็นเพียงคนแปลกหน้า การยิ้มให้ก็ย่อมดีกว่าชูนิ้วกลางใส่แน่นอน

สองข้างทางผ่านมาแล้วผ่านไป ทุกคนรักษาระดับความเร็วตามแต่พอเหมาะของตนเอง

บนท้องถนนมีคนตัวเล็กๆ ที่กำลังรีบไปยังจุดนัด พลังงานแห่งชีวิตใช้ไปในการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง แล้วเคลื่อนไปยังจุดต่อไป ต่อไป และต่อไป

จุดหมายของเธอคืออะไร บางทีฉันสงสัย
จุดหมายของฉันในวันนี้ไม่ใกล้ไม่ไกล เพียงแค่สวนรถไฟ

สี่สิบห้านาทีผ่านไป ฉันมาถึงเขตของสวน ความเครียดค่อยๆ คลายจากกล้ามเนื้อ สูดลมหายใจลึกลงโดยอัตโนมัติ หัวใจผ่อนปรนจังหวะการเต้น ได้ยินเสียงนกร้องบนต้นไม้

บนทางจักรยานมีคนหลากวัยเดินบ้างวิ่งบ้างปั่นบ้าง ที่นี่ส่วนมากยิ้มให้กัน ยังไม่เห็นใครชูนิ้วกลาง มีเสียงกรุ๊งกริ๊งมาตามทาง เสือหมอบพุ่งผ่านขอทาง

นั่งลงสักหน่อย เคี้ยวขนมปังหนึ่งก้อนนั้นและน้ำเปล่าอีกสักขวด

ฉันเพียงละเลียดเวลาอ้อยอิ่งอย่างช้าช้า ฟ้าครึ้มเมฆหม่นอั้นฝนเอาไว้ ตกลงมาเถิดถ้าหากแบกไว้ไม่ไหว ฉันยินดีจะเปียกเพราะวันนี้ไม่มีอะไร

วันนี้ไม่มีอะไร

ฝนไม่ตก แดดยังส่องรำไร อากาศมีสีเทาทาทับจางๆ แต่สดใส ใครสักคนอาจจะรู้สึกดี นั่นพลอยทำให้ใครอีกหลายคนรู้สึกดีเช่นกัน

ความสดใสในอากาศ ความไร้แก่นสารของหยดเหงื่อ สีสันนานาของความทรงจำ

ประตูของอาณาจักรแห่งยามเช้ากำลังจะปิด สมควรแก่เวลาที่จะเดินทางกลับ ฉันอำลาต้นไม้ทุกต้น นกทุกตัวที่หลบหน้าบนกิ่งไม้ บ๊ายบายยามเช้า

เมื่อเอ่ยคำลาก็พลันนึกถึงคำลาที่ได้รับมาเมื่อเช้าวันเสาร์

bye bye

นกน้อยบินออกจากกรง ไปสู่โลกกว้างใหญ่

นก โปรดรักษาตัว , เดี๋ยวเราก็เจอกันอีก…

เมื่อออกเดินทางมาไกลเท่าไร ขากลับก็ควรจะเป็นระยะเท่าเดิม แต่มันใกล้กว่าในความรู้สึก เสียงนกร้องบนต้นไม้เบื้องหลังหายไปเร็วเหลือเกิน บนถนนลาดพร้าว เผลอแป๊บเดียวฉันเห็นเลขบนป้ายเป็น 25 อีกสักพักเป็นห้าสิบกว่า

พอผ่านแยกเลียบทางด่วนเห็นเลขเจ็ดสิบเอ็ดฉันเริ่มหมดแรง

วันนี้ไม่มีอะไร

ถึงบ้าน เหงื่อโซมกาย ลมหายใจมีไอร้อนพรั่งพรู ฝนที่อั้นไว้นานเพิ่งหยดลงมาเม็ดแรก

และ เม็ดถัดมา.. ถัดมา.. ถัดมา..

หลายครั้งฝนเหมือนคนร้องไห้ แต่ในบางครั้งหยดฝนก็มีความร่าเริงในนั้น

เวลานี้คงสุดจะกลั้น ฟ้าร้องไห้

น่าแปลก

ฟ้าวันนี้ร้องไห้แต่ใบหน้าเปื้อนยิ้ม

.

.

.

ป.ล. กลับบ้านมาเจอ Spirited Away พอดี แล้วก็ละสายตาไม่ได้ ดูจนจบเรื่อง (เป็นรอบที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้)
ฉากที่ฉันชอบที่สุดยังคงเป็นขบวนรถไฟบนผืนน้ำสีครามขบวนนั้น และชานชลาที่นักเดินทางไร้หน้า–ค่อยๆ ก้าวลง
รถไฟเคลื่อนขบวน..

คำอวยพร

วันนี้ผมนั่งลงที่โต๊ะ แล้วเขียนคำอวยพรลงในกระดาษแผ่นเล็กๆ อีกครั้ง

คำบางคำเหมาะกับคนบางคน และมันก็สนุกดี เวลาคิดว่าจะเขียนอะไรให้เฉพาะคนคนนั้น

พอเขียนเสร็จผมก็นึกเสียดายขึ้นมาวูบหนึ่ง ถ้อยคำเหล่านั้นจะเดินทางไกล อาจสูญหายตามรายทาง อาจจะปลิวไปในพายุ เป็นอาหารของมอดแมลง หรือร้ายที่สุดคือมันอาจเป็นเพียงแค่เศษกระดาษในมือผู้รับ

วูบหนึ่งคิดว่า น่าจะคัดลอกถ้อยคำเหล่านั้น เก็บไว้ที่นี่

แต่แล้วผมก็คิดว่าอย่าดีกว่า..

ถ้อยคำบางคำ เหมาะกับคนบางคน แม้ผมจะเป็นผู้ประสมอักษร และร้อยเรียงความหมายใดๆ ในนั้น แต่มันก็ไม่ได้เหมาะกับผม

แล้วเราจะเก็บมันไว้ทำไม

นี่คือการส่งความหมาย ผ่านที่ว่างและเวลา

เราส่งไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องปรารถนาอะไรมากกว่านั้น

เราส่งไปแล้ว บางความหมายที่ให้ค่า

บางสัมพันธ์ที่มีมา

ไม่ว่าจะอย่างไร มันจะไปสิ้นสุดในที่ที่เหมาะสมของมัน

,แน่นอน