ชวนอ่าน เพลงรัตติกาลในอินเดีย

เพลงรัตติกาลในอินเดีย (Notturno Indiano)
Antonio Tabucchi เขียน / นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ แปล
Book Virus, กรกฎาคม 2555

ฉบับแปลโดนสำนัก bookvirus นี้ มีทั้งอารัมภบทและคำนิยมสองบทท้วมๆ ก่อนจะถึงตัวเรื่องของตาบุคคี (ผู้เขียน) และทั้งสองชิ้นนั้น ก็มีดอกจันเล็กๆ ตรงหัวข้อว่า อ่านข้ามได้ เพราะฉะนั้น ผมจึงข้ามมันไป

พอถึงตัวเรื่องจริงๆ ผมอยากจะเล่าถึงเนื้อหนังของมัน แต่มันพูดถึงยากมาก เพราะนิยายสั้นเรื่องนี้ แทบไม่มีเรื่อง

‘ผม’ เป็นชาวอิตาลี ที่เดินทางไปในอินเดีย เพื่อตามหาเพื่อนผู้หายตัวไปแรมปี เงื่อนงำมีเพียงจดหมายจากนางโสเภณีคนหนึ่ง จากชิ้นส่วนเบาบางพวกนี้ ‘ผม’ ก็เดินทางไปเรื่อยๆ เกิดบทสนทนากับคนระหว่างทาง

เป็นบทสนทนาประเภทที่ไม่ค่อยจะได้เรื่องได้ราวอะไรนัก เมื่อถามถึงสิ่งหนึ่ง ก็จะได้คำตอบที่ถอยห่างออกไปเสมอเสมอ

อันที่จริงผู้เขียนเล่าในท่วงทำนองทีไม่ได้เร้าให้เราอยากรู้อะไรเลยด้วยซ้ำ เหมือนบทสนทนาในตอนหนึ่ง

” อย่าคัดเลือกมาเป็นชิ้นๆ เลยค่ะ ขอร้องล่ะ โปรดเล่าสารัตถะของหนังือคุณให้ฉันฟัง ฉันอยากรู้เรื่องราวโดยรวมของมันค่ะ”

“ก็ทำนองว่า หนังสือผมจะเป็นคนที่หลงทางในอินเดีย นี่แหละครับเรื่องราวโดยรวม”

“ไม่ได้นะคะ แค่นี้ไม่พอ คุณจะเอาตัวรอดอย่างนี้ไม่ได้นะคะ เพียงเท่านี้ เป็นสารัตถะไม่ได้”

ที่สำคัญและ(อาจจะ)มีคุณค่าที่สุดในนิยายเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เล่า ไม่ได้พูดออกมาชัดๆ — ถึงตรงนี้ผมคิดอย่างเข้าข้างว่า ตัวผู้เขียนกำลังอยากเล่าถึงสิ่งที่ซับซ้อนและใหญ่เกินกลไกของภาษาอันราบเรียบ สารัตถะชนิดที่ลดทอนไม่ได้ เพราะจะสูญเสียใจความของมันไป

น่าสังเกตว่า ถ้าไม่ใช่ด้วยฝีไม้ลายมือระดับนี้ อ่านไปจะหลับเอาง่ายๆ แต่เสน่ห์ของความเงียบ ความมืด และหมอกสลัว นั้นตรึงสมาธิเราไว้ได้จนจบเล่ม

เอา่ะ แต่ถึงอย่างนั้น ในการเดินทางของตัวละคร ที่เข้าโรงแรมนู้น ออกโรงแรมนี้ ซุกกายทั้งในระดับห้าดาวอย่างที่เด็กยกกระเป๋าแต่งองค์แบบมหาราชา จนกระทั่งความเสื่อมโทรมของตรอกเล้าหมู เราเห็นอะไรบ้าง

บรรยากาศน่าสังเวชในโรงพยาบาล ที่เป็นดั่งลานโล่งกว้างขวางอันมีเตียงคนไข้นอนเรียงแถวเต็มพรืด คล้ายการแปรอักษรเป็นตัวสะกดว่า “กำลังตาย”

แม้จะไม่ได้เน้นย้ำลงไปในตัวอักษร แต่เราจะเห็นภาพของความแปลกต่างของ ‘ผม’ ชาวตะวันตกโลกที่หนึ่ง หลงทางในความสับสนอลหม่านของอินเดีย ท้องนทีแห่งโลกตะวันออก

หญิงช่างภาพถาม

“คุณเคยไปกัลกัตมาไหมคะ”

ผมส่ายหัว

“อย่าไปนะคะ” คริสตินบอก “อย่าทำสิ่งผิดพลาดนี้เป็นอันขาด”

“ผมคิดว่าคนอย่างคุณจะคิดว่าในชีวิตต้องได้ไปเห็นให้มากที่สุดเสียอีก”

“ไม่ค่ะ” เธอตอบหนักแน่น “ต้องเห็นให้น้อยที่สุด”

ภาพบางภาพเห็นแล้วก็เท่านั้น รังแต่จะเกิดคำถามอันสั่นคอนความเป็นตัวเรา

สั่นคลอนความสุขของเรา

และอาจทำให้เรานอนไม่หลับ.